แนวทางการจัดการโคนมที่เหมาะสมควรทำอย่างไร

การดูแลสวัสดิภาพสัตว์ไม่เพียงรับประกันคุณภาพของฝูงสัตว์เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ลดความสูญเสียและต้นทุน ขยายโอกาสทางการตลาด และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายอีกด้วย
หนึ่งในหลักสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์คือการจัดการที่เหมาะสมสำหรับสัตว์แต่ละชนิด ซึ่งรวมถึงการจัดการโคนมที่เหมาะสมด้วย
Compassion in World Farming รายงานว่าในปี พ.ศ. 2565 มีสัตว์กว่าเก้าหมื่นสองพันล้านตัวทั่วโลกที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ในขณะที่โคนมกว่า 280 ล้านตัวผลิตน้ำนมถึงเจ็ดแสนสามหมื่นล้านลิตร
นอกจากนี้ กระแสบริโภคในภูมิภาคเอเชียยังสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความตระหนักมากขึ้นและต้องการมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภคที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืน
รายงานล่าสุดของ Deloitte ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอินเดียเริ่มคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์
การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคนี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนผลกระทบของแนวปฏิบัติการเลี้ยงสัตว์ต่อทั้งคุณภาพของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น บริษัทที่นำแนวปฏิบัติด้านการจัดการที่เหมาะสมมาใช้และรับรองสวัสดิภาพสัตว์ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการทางจริยธรรมของผู้บริโภคและตลาดเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ความภักดีของลูกค้าได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเหล่านี้มากขึ้น
นอกจากนี้ Asia Food Journal รายงานว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง โดยมีกระแสใหม่ ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย และมีกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรมที่เพิ่มสูงขึ้น
การจัดการโคนมที่เหมาะสมจะช่วยรักษาสุขภาพของโคนม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พวกมันได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดความเครียด อัตราการบาดเจ็ดและอัตราการตาย ดังนั้น การดูแลเรื่องการสืบพันธุ์ สุขภาพของฝูงสัตว์ และการจัดการล้วนมีความสำคัญ
อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้และแนวทางการจัดการโคนมที่เหมาะสมใช่ไหม อ่านต่อเลย!
การดูแลด้านการสืบพันธุ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ยิ่งมีการการจัดการโคนมที่เหมาะสมในช่วงผสมเทียมและช่วงหลังผสมเทียมมากเท่าไหร่ ผลิตผลที่ได้จากฝูงโคนมก็จะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเท่านั้น
ปัจจัยที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษคือสภาวะทางความร้อนของโรงเรือนโคนม เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินไปอาจเพิ่มอัตราการสูญเสียตัวอ่อนและส่งผลให้การตรวจจับอาการเป็นสัดทำได้ยากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น คุณภาพของการเลี้ยงลูกโคยังส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของโคนม ทั้งในด้านการสืบพันธุ์และการผลิตอีกด้วย
ข้อควรพิจารณามีดังต่อไปนี้
- อายุที่แนะนำสำหรับการคลอดลูกตัวแรกคือ 24 เดือน
- อัตราที่เหมาะสมคือลูกโคหนึ่งตัวต่อปี หรือการคลอดลูกทุก 12 เดือน
- ควรให้โคนมอยู่ในคอกที่มีร่มเงาหรือคอกคลอด พร้อมน้ำและอาหารที่มีคุณภาพเตรียมไว้ให้กินตลอดเวลา เป็นระยะเวลา 30 วันก่อนคลอด
- ระยะแห้งนมโดยเฉลี่ยควรอยู่ที่ 60 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมของต่อมน้ำนมในการผลิตน้ำนมในรอบถัดไป
การจัดการและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโคนม
ในการจัดการโคนมที่เหมาะสมนั้น จะต้องปฏิบัติต่อโคอย่างใจเย็น โดยหลีกเลี่ยงการตะโกนหรือเคลื่อนไหวกะทันหัน และใช้วิธีการที่ใส่ใจพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์เพื่อป้องกันความเครียดหรืออาการบาดเจ็บ
แนวทางสวัสดิภาพสัตว์ในการจัดการฝูงโคนมมีดังนี้
- ห้ามใช้แรงดึงหรือยกอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ เช่น หาง ผิวหนัง ใบหู หรือขา
- ต้องเคลื่อนย้ายลูกโคอย่างปลอดภัยโดยการอุ้ม จูง หรือขนส่ง ห้ามลากหรือดึงโดยเด็ดขาด
- ในระหว่างคลอด ควรให้การช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่ควรทำการชักนำการคลอดเป็นประจำ
- สายสะดือของลูกโคแรกเกิดควรแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ
- สัตว์ที่ไม่สามารถเดินได้ควรได้รับการรักษาทันที
- ห้ามทำเครื่องหมายโดยการกรีด การตัดเบอร์หู หรือการทำรอยบนใบหน้า ยกเว้นเพื่อเหตุผลด้านสุขอนามัยตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
- สุนัขต้องได้รับการฝึกไม่ให้ทำอันตรายหรือรบกวนโค ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตลอดเวลา และห้ามนำสุนัขเข้าไปในโรงรีดนมเด็ดขาด
การจัดการ
การจัดการโคนมที่เหมาะสมไม่สามารถทำได้หากฟาร์มขาดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และลักษณะเฉพาะของสัตว์แต่ละชนิด ดังนั้นการฝึกอบรมผู้จัดการและบุคลากรทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยควรครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
- การฝึกอบรมเกี่ยวกับการระบุและจัดการปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดของโคนม
- ความรู้เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการฉุกเฉินในการรับมือกับอัคคีภัย ภัยแล้ง หรืออุทกภัย
- การจัดเตรียมบันทึกข้อมูลของฝูงโค รวมถึงกระบวนการกักกันและการใช้ยาสำหรับการตรวจสอบโดยผู้รับรองสวัสดิภาพสัตว์
สุขภาพของฝูงโคนม
การดูแลสุขภาพของโคนมจำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนสุขภาพสัตว์ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ ตลอดจนการติดตามสมรรถภาพของสัตว์อย่างต่อเนื่อง
มาตรการที่ควรดำเนินการ ได้แก่
- สังเกตการเกิดโรคที่เกิดจากการผลิต โรคติดเชื้อ และอาการบาดเจ็บที่เกิดจากสภาพแวดล้อมหรือการจัดการที่ไม่เหมาะสม
- รักษาสัตว์ที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บทันที พร้อมทั้งขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากสัตวแพทย์เมื่อจำเป็น
- กักกันสัตว์ที่นำมาจากแหล่งอื่นตามระยะเวลาที่กำหนด
- ตรวจสอบและดูแลกีบเท้าอย่างน้อยปีละครั้ง
- ประเมินและบันทึกภาวะกีบอักเสบในฝูงทุก 6 เดือน
- การตัดหัวนมเกินควรทำก่อนวัยเจริญพันธุ์ โดยใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวด
- การสูญเขาควรทำภายใน 3 สัปดาห์แรกของอายุโค โดยใช้วิธีจี้ความร้อนร่วมกับการให้ยาบรรเทาความเจ็บปวด
- การตัดเขาจะต้องดำเนินการโดยสัตวแพทย์เท่านั้น โดยใช้ยาระงับประสาทหรือยาชาเฉพาะที่ร่วมกับยาแก้อักเสบ
- ห้ามตัดหาง แต่สามารถเล็มขนที่ปลายหางได้
- ฟาร์มควรเตรียมความพร้อมในการทำการุณยฆาตหากจำเป็น ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยสัตวแพทย์หรือบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรม พร้อมทั้งดำเนินการกำจัดซากสัตว์ตามระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดท้องถิ่น
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการการผลิตสัตว์ได้ที่นี่เลย!
Published on April 2, 2025