สัตว์ก็มีหัวใจ พวกมันก็มีความรู้สึก รับรู้ได้ทั้งความเจ็บปวดและความสุข

แม้ว่าหลายคนตระหนักดีว่าสัตว์มีความรู้สึก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีสัตว์นับล้านที่ยังถูกปฏิบัติราวกับว่าเป็นเพียง “สิ่งของ” หรือวัตถุ ถูกขังอยู่ในพื้นที่คับแคบที่ขาดสุขอนามัย มีอาหารไม่เพียงพอ และต้องทนกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ทั้งที่รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของตัวเองได้
สัตว์ไม่เพียงแต่รับรู้ถึงความทรมานและความเจ็บปวด แต่ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความสุข ความพึงพอใจ และความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบเช่นเดียวกับเรา งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น รวมทั้งคำบอกเล่าของผู้เพาะพันธุ์สัตว์และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์มากประสบการณ์ต่างก็สนับสนุนแนวคิดนี้
อยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ใช่ไหม กดติดตามเราเพื่อเรียนรู้ว่าทำไมสัตว์ถึงสามารถรู้สึกได้ถึงความสุข ความเศร้า ความเจ็บปวด ความกลัว และความพอใจได้เหมือนคุณ!
สัตว์ก็มีความรู้สึก
สัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา หรือแม้กระทั่งสัตว์จำพวกหอยและหมึก (mollusk) ก็มีความรู้สึกได้เพราะมีวงจรประสาทและโครงสร้างทางสมองที่สร้างจิตสำนึกขึ้น แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถเข้าใจหรือตีความรู้สึกของพวกมันผ่านเพียงการสังเกตอย่างเดียวก็ตาม
ข้อค้นพบนี้เผยแพร่โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในปี พ.ศ. 2555 ผ่านคำประกาศในการประชุมว่าด้วยจิตสำนึกในมนุษย์และสัตว์ (Cambridge Declaration on Consciousness in Human and Non-human Animals) ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในภายหลัง
ผลการศึกษาของงานวิจัยมีดังนี้
- นักประสาทวิทยาชาวอเมริกันค้นพบว่าหนูขาวและหนูถีบจักรมีวงจรประสาทเดียวกันกับมนุษย์ที่ทำงานเมื่อเกิดอารมรณ์หรือมีความรู้สึกต่าง ๆ
- งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมโมรีในสหรัฐฯ พบว่าไก่มีบุคลิกเฉพาะตัว สามารถเข้าใจตัวเลข และรับรู้ถึงความกลัว กังวล และความเห็นอกเห็นใจได้
- นอกจากนี้ยังพบว่า สัตว์ตระกูลไพรเมต (primate) และช้างมีจิตสำนึกเรื่องความยุติธรรม โดยพวกมันจะไม่ร่วมมือกับผู้ที่ปฏิบัติต่อพวกมันอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งแสดงพฤติกรรมแก้แค้นต่อผู้ฝึกและผู้ดูแลที่มีความก้าวร้าว
- นกมาคอว์ (Macaw) ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม มีความซื่อสัตว์ต่อคู่ของมันตลอดชีวิต และเมื่อสูญเสียคู่ไป พวกมันอาจหยุดกินอาหารและอ่อนแอลงจนเสียชีวิต
ความสำคัญของการรับรองสวัสดิภาพสัตว์
โดยทั่วไป ผู้เพาะพันธุ์สัตว์อาจอ้างว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายด้านโภชนาการ สุขอนามัย และการฉีดวัคซีนของสัตว์ อย่างไรก็ตาม สวัสดิภาพสัตว์ยังคงถูกละเลยอยู่บ่อยครั้ง
การจัดหาอาหารและสภาพแวดล้อมให้สัตว์มีชีวิตรอดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่อาจรับประกันได้ว่าพวกมันไม่ได้ประสบกับความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมาน
สัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นการเคารพลักษณะดังกล่าวหมายถึงการจัดสภาพแวดล้อมและพื้นที่ที่เหมาะสม เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ การพักผ่อน และการแสดงออกพฤติกรรมตามชาติ ซึ่งจะช่วยให้สัตว์รู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และมีสุขภาพแข็งแรง
การดูแลสวัสดิภาพสัตว์ยังช่วยให้การจัดการง่ายขึ้นอีกด้วย ลดการสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย
การรับรองสวัสดิภาพสัตว์ช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกด้านสวัสดิภาพสัตว์อีกด้วย
ผู้บริโภคที่มีจิตสำนึก
ในปัจจุบัน มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการทราบถึงแหล่งที่มาของอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภค รวมทั้งกระบวนการผลิต โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากสัตว์
นี่ไม่ใช่เพียงแค่ความอยากรู้ทั่วไป ทุกวันนี้ ผู้คนไม่เพียงต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพยิ่งกว่าเดิม แต่อาหารนั้นจะต้องไม่ได้มาจากสัตว์ที่ทนทุกข์ทรมานหรือทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
กระแสนี้มาแรง จนเกษตรกรในเอเชียต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้และดูแลสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงของตน
การตระหนักว่าสัตว์สามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกไม่ต่างจากเรา เช่น ความสุข ความเศร้า ความเจ็บปวด ความพอใจ ความโหยหา ความกลัว หรือความปลอดภัย เป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่การรับรองคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสัตว์ ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และโดยเฉพาะสัตว์เอง!
→ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอรับรองสวัสดิภาพสัตว์ได้ที่นี่
Published on April 2, 2025