การจัดการไก่ไข่: แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและคำแนะนำที่ไม่ควรพลาด

ผู้บริโภคยุคใหม่คาดหวังว่าการผลิตอาหารจากสัตว์ทั้งหมดจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย รวมถึงทั้งสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเฉพาะไก่ไข่ที่ให้ผลผลิตเป็นไข่แก่เรา ดังนั้นการจัดการไก่ไข่เหล่านี้จะต้องปรับให้สอดคล้องกับลักษณะและพฤติกรรมตามธรรมชาติของแต่ละสายพันธุ์
ChickenWatch ติดตามการใช้ระบบสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียผ่านแผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของความก้าวหน้าในแต่ละภูมิภาค ซึ่งพบว่าไต้หวันและญี่ปุ่นเป็นผู้นำในด้านสวัสดิภาพของไก่ไข่ในเอเชีย สังเกตได้จากความก้าวหน้าในการใช้ระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไร้กรง
ในทางกลับกัน จีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุด เพราะยังคงใช้ระบบการเลี้ยงแบบขังกรงเป็นมาตรฐานในการผลิตไข่
หนึ่งในหลักการพื้นฐานในการดูแลสวัสดิภาพของไก่ไข่คือระบบการเลี้ยงแบบไร้กรง เพราะการเลี้ยงแบบขังกรงจะทำให้พวกมันไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างอิสระ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเครียด รวมถึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตและภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การจัดการไก่ไข่ตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์จึงจำเป็นต้องใช้ระบบการเลี้ยงไก่ไข่แบบไร้กรง
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไก่ไข่แบบไร้กรงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันสวัสดิภาพสัตว์ได้ แต่ยังจำเป็นต้องยึดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อรักษาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของไก่ไข่
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับคำแนะนำด้านสวัสดิภาพสัตว์ในการจัดการไก่ไข่ได้เลย!
ประเด็นทั่วไปเกี่ยวกับสวัสดิภาพของไก่ไข่
การจัดการไก่ไข่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและรับผิดชอบทุกขั้นช่วงชีวิตของสัตว์ ตั้งแต่การเกิด การเลี้ยงดู การลำเลียง จนถึงการคัดออก ดังนั้น ควรนำแนวปฏิบัติในการจัดการมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ไก่ไข่เผชิญกับความหวาดกลัว
คำแนะนำสำหรับการจัดการไก่ไข่ที่ถูกต้องมีดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนที่ไม่จำเป็นและการเคลื่อนไหวกะทันหันในบริเวณโรงเรือนไก่เพื่อป้องกันความเครียดหรือความกลัว
- ควรจับและเคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ป้องกันไม่ให้เกิดความกลัวและความเจ็บปวด
- ห้ามจับหรือยกไก่โดยใช้ปีก หาง เท้า หรือคอ
- การทารุณกรรมสัตว์ในทุกขั้นตอนของการจัดการถือเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศ
ระบบแสงสว่าง
เพื่อรักษาสวัสดิภาพของไก่ไข แนะนำให้ใช้แสงธรรมชาติ เพราะวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้พวกมันขึ้นคอนในช่วงเย็น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเบียดเสียดในโรงเรือนได้
อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถใช้แสงธรรมชาติเพียงอย่างเดียวในการเลี้ยงไก่ ควรทำตามวิธีที่แนะนำดังต่อไปนี้
- ควรให้แสงสว่างทั่วทั้งโรงเรือน เพราะบริเวณที่มืดอาจทำให้ไก่รวมกลุ่มกันแน่นเกินไปหรือวางไข่บนพื้น
- ระบบให้แสงสว่างในโรงเรือนควรให้แสงสว่างจากแสงประดิษฐ์หรือแสงธรรมชาติอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งมีช่วงมืดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือตามช่วงเวลาตามธรรมชาติในแต่ละวัน
- ในกรณีที่ใช้แสงประดิษฐ์ ควรใช้ระบบหรี่ไฟที่สามารถปรับความสว่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเลียนแบบการเปลี่ยนแปลงและความเข้มของแสงธรรมชาติ โดยใช้สวิตซ์หรี่ไฟ ตัวควบคุมความเข้มแสง หรือตัวตั้งเวลาเพื่อช่วยควบคุมแสงในโรงเรือน
- ในช่วงกลางวัน ควรให้แสงสว่างเพียงพอเพื่อให้ไก่ไข่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ และสามารถตรวจสอบไก่ไข่ทั่วโรงเรือนได้ง่าย
- ความเข้มของแสงสว่างที่ระดับสายตาไก่ไข่ไม่ควรต่ำกว่า 10 ลักซ์
แนวทางการจัดการเพื่อป้องกันการจิกตี
การจัดการด้านโภชนาการ สุขอนามัย สภาพแวดล้อมและการฝึกอบรมบุคลากรในการดูแลไก่ไข่สามารถช่วยลดปัญหาการจิกขนและป้องกันการจิกตีกัน (cannibalism) ในฝูงไก่ไข่ได้ ความรู้และประสบการณ์ของผู้ผลิตมีส่วนช่วยในการให้คำแนะนำหรือแนวทางในการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์
แนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงของพฤติกรรมจิกตีกันในฝูงไก่ไข่ ได้แก่
- ตอบสนองความต้องการทางโภชนาการ: ควรจัดหาอาหารที่สมดุลและใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน การเผาผลาญและพฤติกรรมของไก่ไข่
- ใช้วัสดุปูรองพื้นที่มีคุณภาพสูง: วิธีนี้ช่วยลดปัญหาการจิกตีกันได้ โดยกระตุ้นให้ไก่ไข่อาบฝุ่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมัน
- ลดสิ่งเร้า: เลือดหรือบาดแผลเปิดอาจกระตุ้นให้ไก่ไข่มีพฤติกรรมจิกขนที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น โรงเรือนไม่ควรมีวัสดุแหลมคมที่อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
- แยกไก่ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตออกทันที: ควรนำไก่ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตออกจากฝูงทันที
- ดูแลความสม่ำเสมอของฝูงไก่: ควรจัดการให้ฝูงไก่มีน้ำหนัก สุขภาพ และสภาพขนที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด การชั่งน้ำหนักไก่เป็นประจำจะช่วยประเมินการจัดการด้านโภชนาการและสุขอนามัยได้
- คอนในระดับความสูงที่ต่างกัน: ทั้งในช่วงเลี้ยงและช่วงผลิต ควรมีการติดตั้งคอนในระดับที่ต่างกันเพื่อให้ไก่ไข่ใช้เป็นที่พักพิงได้
- รังวางไข่: รังควรมีพื้นที่ปิดและมีแสงน้อยเพื่อให้ไก่ไข่สามารถวางไข่ในพื้นที่รู้สึกปลอดภัยได้
- คัดเลือกสายพันธุ์: ควรเลือกสายพันธุ์ที่เชื่อง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของฟาร์มได้ รวมทั้งมีพฤติกรรมจิกขนและจิกกันเองน้อยกว่า
- การดูแลปากไก่: การตัดปากไก่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดเรื้อรัง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม หากฟาร์มยังจำเป็นต้องใช้กระบวนการนี้ ควรใช้วิธีตัดปากไก่ด้วยเลเซอร์อินฟราเรดตั้งแต่อยู่ในโรงฟัก หรือใช้วิธีการจี้ปากเพื่อตัดเฉพาะปลายปากแทน
นอกจากนี้ ฟาร์มสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ปากไก่สึกตามธรรมชาติได้ เช่น การใช้รางอาหารที่มีพื้นรองด้วยกระดาษทรายหรือพื้นผิวขรุขระ หรือการโรยหินพรุนทั่วโรงเรือนพร้อมกับวางอาหารไว้บนหินเหล่านั้น
แนวทางการการุณยฆาต
เมื่อไก่ไข่ป่วยจากโรคหรือความผิดปกติจนเกิดความทุกข์ทรมานและไม่สามารถฟื้นตัวได้ ควรคัดออกตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดดังนี้
- การุณยฆาตควรดำเนินการโดยสัตวแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อไม่ทำให้ไก่เจ็บปวดหรือเกิดความเครียด
- การเคลื่อนกระดูกคอ (cervical dislocation) สามารถใช้ทำการการุณยฆาตได้ แต่ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะเป็นการคัดออกอย่างมีเมตตาและมนุษยธรรม ไม่ใช่วิธีการเชือดทั่วไป
- วิธีการการุณยฆาตจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุและสภาพร่างกายของไก่ วิธีการกักบริเวณที่มีอยู่ ความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงาน และจำนวนของไก่ที่ต้องคัดออก
- ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าไก่เสียชีวิตแล้วก่อนนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ การทำปุ๋ยหมัก หรือการเผาทำลาย
- ตามโครงการ National Compassionate Culling Program การุณยฆาตควรดำเนินการโดยบุคลากรที่ได้รับการอบรมโดยใช้การเคลื่อนกระดูกคอ
- นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเน้นย้ำว่าควรทำการการุณยฆาตในกรณีฉุกเฉินเท่านั้นเพื่อใช้เป็นการคัดออกอย่างมีเมตตาเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นวิธีการฆ่าตามปกติ
→ ดาวน์โหลดสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของไก่ไข่ได้เลย!
Published on April 2, 2025